พิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณเป็น สุดยอดและบ่อเกิด ของชีวิตพระสงฆ์ เป็นสุดยอด เพราะทุกอย่างที่เราจะทำ
เป็นภาพสะท้อนของการถวายพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ เป็นบ่อเกิด เพราะสิ่งที่เราได้ตั้งใจทำในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ จะเกิดผลหลั่งไหลออกมาในชีวิตประจำวัน
พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 สอนไว้ใน Sacrament of Charity ข้อ 88 ว่า การเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทแต่ละครั้งนั้น
เป็นการทำให้ของประทานอันเป็นบูชาของพระเยซูเจ้าบนกางเขนเป็นจริงอีกครั้งหนึ่ง เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์เปี่ยมด้วยพระหรรษทานเพื่อชาวเราและชาวโลกทั้งมวล
พิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณเป็นหัวใจของการนมัสการ ซึ่งแสดงออกถึงแก่นสาระในชีวิตของพระสงฆ์ นั่นคือ การหยิบขึ้นมา การอวยพร การหักออก และการแบ่งปัน
ซึ่งมาจากแบบอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำในงานเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายกับบรรดาศิษย์ก่อนจะสิ้นพระชนม์ จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโครินทร์ฉบับที่หนึ่ง (1คร 11: 23-26) ได้บันทึกไว้ว่า บรรดาผู้มีความเชื่อได้มารวมกันทำพิธีดังกล่าวเพื่อระลึกถึงพระเยซูเจ้า
มีเกล็ดปลีกย่อย 12 ข้อ ที่ควรใส่ใจในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณเป็นพิเศษดังนี้
- การทำเครื่องหมายสำคัญมหากางเขน ใช้มือขวาทั้งห้านิ้ว (Using the Hand in Place of the Fingers) ระลึกถึงบาดแผลทั้งห้าบนกางเขน ชูชึ้นแตะที่หน้าผากเมื่อพูดว่า พระบิดา แตะที่หน้าอกเมื่อพูดว่า พระบุตร และแตะที่ใหล่ซ้ายเมื่อพูดว่า พระ แล้วแตะที่ไหล่ขวาเมื่อพูดว่า จิต (สำหรับนิกายออร์ธอด๊อกซ์ จะแตะที่ไหล่ขวาไปซ้าย ในประวัติศาสตร์มีการปฏิบัติโดยใช้หัวแม่มือนิ้วเดียว หรือสองนิ้ว หรือสามนิ้ว แล้วแต่การเน้นคำสอนเกี่ยวกับพระเจ้าในแต่ละสมัย) นักบุญยอห์น มารีย์ เวียนเนย์ สอนว่า เมื่อเราทำสำคัญมหากางเขน นรกทั้งหมดสั่นสะเทือน (A genuinely made Sign of the Cross makes all hell tremble) เพราะเป็นการระลึกถึงธรรมล้ำลึก 2 ประการ ได้แก่ พระตรีเอกานุภาพและการไถ่กู้มนุษย์ให้รอด (Trinity and Redemption) ซึ่งเป็นการประกาศถึงความจริงที่ว่า พระบุตรของพระเจ้าทรงบังเกิดมาเป็นมนุษย์เพื่อไถ่บาปเราโดยการสิ้นพระชนม์บนกางเขน
- การย่อเข่าและการคำนับ
มีหลักการสากลดังนี้คือ เราจะย่อเข่า (Genuflect) ให้กับศีลมหาสนิทซึ่งเป็นพระเจ้าผู้สถิตท่ามกลางเรา และเราจะคำนับ (Bow) พระแท่นซึ่งเป็นสัญลักษณ์หมายถึงพระคริสตเจ้า ดังนั้น ในกรณีประยุกต์การแสดงความเคารพให้เข้ากับวัฒนธรรมไทย เราจะไหว้ด้วยความเคารพทั้งต่อตู้ศีลและพระแท่น โดยยืนตัวตรง ประนมมือให้ปลายนิ้วชี้จรดส่วนบนของหน้าผาก แล้วโน้มศีรษะลงด้วยความนอบน้อม
- ในการเทศน์สอนวันอาทิตย์ ใจความ
(Theme) ในการเทศน์แบ่งปันความเชื่อกับสัตบุรุษจะมาจากบทอ่านที่หนึ่งซึ่งปกติจะเป็นพันธสัญญาเก่าและพระวรสาร ซึ่งทั้งสองบทนี้จะมีใจความสอดคล้องกัน หลังจากอ่านบทที่หนึ่งจบแล้วก็จะเป็นช่วงของความเงียบ นักร้องก็จะร้องเพลงบทสดุดี ซึ่งบทสดุดีนั้นจะสอดคล้องกับบทอ่านที่หนึ่ง ทำให้เกิดความรู้สึกดื่มด่ำในบทอ่านที่หนึ่งยิ่งขึ้น ส่วนบทอ่านที่สองนั้น เป็นการยกตัวอย่างของการเป็นสักขีพยานด้วยชีวิตอันทรงคุณค่าต่อเราคริสตชน ซึ่งเอามาจากบทจดหมายและงานเขียนของบรรดาศิษย์ในพันธสัญญาใหม่
- การเทศน์ในมิสซาบูชาขอบพระคุณต้องเกี่ยวข้องกับใจความ (Theme) ของบทอ่านที่หนึ่งและพระวรสาร จึงจะเรียกว่าเป็น Homily ถ้าเทศน์สอนตามใจตนเองแบบนอกเรื่อง ก็ไม่เรียกว่าการเทศน์ในมิสซาบูชาขอบพระคุณ
ดังนั้น การเทศน์สอนจะเป็น ข่าวดี (Good News) สำหรับสัตบุรุษเสมอ เป็นการทำให้การประกาศข่าวประเสริฐของพระเยซูเจ้าแห่งนาซาเร็ธมีชีวิตอีกครั้งหนึ่งในมิติของปัจจุบัน สมกับคำว่า นี่คือพระวาจาของพระเจ้า อย่างแท้จริง
- พระสงฆ์ต้องตระหนักเสมอว่า การเทศน์เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ
ซึ่งผู้เทศน์จะอธิบายและประยุกต์พระคัมภีร์ตามบริบทของกาละและเทศะ เพื่อให้สัตบุรุษสามารถค้นพบการทำงานของพระเจ้าในชีวิตของเขาได้อย่างเหมาะสม ณ ปัจจุบันนี้ ดังนั้น พระสงฆ์ต้องรำพึงภาวนาให้ตกผลึกก่อนที่จะเทศน์แบ่งปันความเชื่อ เพื่อนำไปสู่การตอบสนองพระสุรเสียงของพระเจ้าในชีวิตจริง และที่สำคัญคือเป็นการเทศน์แบบมีคุณภาพ ใช้เวลา 10-15 นาทีก็พอ เพราะเป็นการค่อยๆ หล่อหลอมพร้อมกับการทำงานของพระจิตเจ้า ซึ่งสัตบุรุษจะมีโอกาสฟังเทศน์ดีๆ ปีละ 53 ครั้งเป็นอย่างน้อย น่าจะมากพอสำหรับชีวิตสนิทกับพระ
- การวอนขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าในบทภาวนาเพื่อมวลชน
(The General Intercession) เป็นการตอกย้ำให้ตระหนักถึงพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลหรือการยึดเอาตนเองเป็นหลัก ดังนั้น เราจึงภาวนาให้แก่พระศาสนจักร ผู้นำประเทศชาติ คนที่ตกทุกข์ได้ยาก ชุมชนของวัด และความรอดของพระศาสนจักรทั้งมวล
- ภาคถวายจำต้องมีความหมายที่ชัดเจน เพราะเป็นการถวายตัวเองของพระสงฆ์และทุกคนทุกคนที่ร่วมโดยเอา ผลงานจากน้ำพักน้ำแรง
มาถวายซึ่งมีปังและเหล้าองุ่นและเงินจากถุงทานเพื่อคนจนหรือความต้องการของพระศาสนจักรเป็นสัญญลักษณ์
และแล้วพระเจ้าก็จะมอบพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้าคืนให้แก่เราภายใต้รูปปังและเหล้าองุ่น เพื่อให้เราได้รับการหล่อเลี้ยงและมีชีวิตใหม่ ประธานในพิธีจะรับของถวายและภาวนาขอบพระคุณ บรรดาสัตบุรุษจะร่วมใจภาวนาและตอบรับด้วยความกระตือรือร้น
- พิธีกรรมภาคบูชาขอบพระคุณ
ซึ่งเป็นหัวใจของการเฉลิมฉลองพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ ถือเป็นการภาวนาของชุมนุมสัตบุรุษ แก่นสาระของการภาวนา ได้แก่ การสรรเสริญและขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับพระภารกิจอันยิ่งใหญ่แห่งความรอด และในเวลาเดียวกันก็เป็นการรับรู้ถึงการสถิตอยู่ของพระคริสตเจ้าในพระกายและพระโลหิตและพระภารกิจของพระองค์ บทภาวนานี้มิใช่เพียงเปลี่ยนแปลงปังและเหล้าองุ่นเท่านั้น แต่ยังได้เปลี่ยนแปลงเราและพระศาสนจักรให้เป็นเครื่องหมายของพระคริสตเจ้าที่มองเห็นได้ในโลก ดังนั้น พระสงฆ์ต้องสวดด้วยความตั้งใจ ถ่ายทอดทุกความหมาย สัตบุรุษจะร่วมใจกับประธานด้วยความตั้งใจ และตอบรับด้วยความร้อนรนสามครั้งได้แก่ (1) ในบท ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกับเทวดาและสิ่งสร้างทั้งหลาย (2) ในบทประกาศพระธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ และ (3) ในตอนท้ายของบทภาวนาด้วยคำว่า อาแมน อย่างสง่า (The Doxology - The Great Amen)
- หลังจากบทขอบพระคุณ
จะเตรียมตัวรับพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้าในศีลมหาสนิท อันดับแรกเป็นการสวดบทภาวนาของพระอาจารย์เจ้า (บทข้าแต่พระบิดา) เพื่อสัมพันธ์กับพระเจ้า แล้วมอบสันติสุขแก่กัน เป็นสันติสุขดังคำในภาษาฮีบรูว่า Shalom ซึ่งหมายถึงสุขภาพที่ดี มีความสุขสมหวัง และอุดมด้วยความมั่งคั่ง (Complete Health, Fulfillment and Prosperity) สัญลักษณ์ของการมอบสันติสุขแก่กันสำหรับคนไทยคือการไหว้กัน
ถ้าไหว้ผู้มีพระคุณและผู้มีอาวุโส ก็จะประนมมือให้ปลายนิ้วชี้จรดระหว่างคิ้ว ถ้าไหว้บุคคลทั่วๆ ไปหรือผู้ที่เสมอกันโดยประนมมือยกขึ้นให้ปลายนิ้วจรดปลายจมูก เมื่อมีผู้ทำความเคารพด้วยการไหว้ ต้องรับไหว้ทุกครั้ง
การรับไหว้ใช้ประณมมือแค่อก แล้วยกขึ้นเล็กน้อย ก้มศีรษะ ต่อจากนั้น พระสงฆ์จะหักปังที่เสกแล้วเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าเราจะรับจากปังก้อนเดียวกัน แล้วหักชิ้นเล็กๆ
ใส่ลงไปในถ้วยเหล้าองุ่นเพื่อระลึกถึงการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระคริสตเจ้ามามีชีวิตใหม่ เราจึงร้องเพลง ลูกแกะของพระเจ้า เพื่อวอนขอพระองค์ ทรงประทานสันติสุขให้เรา
- เมื่อรับศีลมหาสนิทและเสร็จสิ้นจากการแจกศีลฯ แล้ว เราควรจะมีช่วงเงียบสักครู่หนึ่งเพื่อภาวนากับพระเยซูเจ้าซึ่งประทับอยู่ในใจของเรา
ก่อนที่จะสวดบทภาวนาหลังรับศีลฯ อวยพรและส่งสัตบุรุษออกไปด้วยวลีภาษาไทยในใจของวลีภาษาลาตินโบราณว่า Ite missa est ซึ่งยากที่จะแปลได้ตรงๆ คำแปลที่ใกล้เคียงที่สุดคือ จงไป พวกท่านถูกส่งออกไป บ่อยๆ ก็จะถูกแปลว่า จงไป พิธีมิสซาสิ้นสุดแล้ว
- การอวยพรปิดพิธีมิสซาจะเป็นการเตือนใจให้คิดถึงพันธกิจร่วมกันของทุกคน นั่นคือการออกไปประกาศข่าวดีเรื่องความรอดแก่โลก ตามที่ได้เฉลิมฉลองในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณนั้น
บัดนี้ต้องดำเนินต่อไปในชีวิตจริง พระคริสตเจ้ามิได้ทรงประสงค์เพียงเปลี่ยนปังกับเหล้าองุ่นเท่านั้น แต่ต้องการเปลี่ยนแปลงเราและโลกเพื่อเป็นของถวายที่เหมาะสมแก่พระบิดาด้วย ทุกคนได้รับการส่งกลับสู่โลกเพื่อดำเนินชีวิตเหมือนอย่างพระเยซูเจ้า และจัดให้โลกเป็นไปในรูปแบบที่พระองค์ทรงปรารถนา ดังนั้น เป้าหมายของการเฉลิมฉลองพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณจึงเป็นการทำให้ชีวิตทั้งหมดของเราเป็นบูชาขอบพระคุณเสมอไป กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าเวลาหนึ่งชั่วโมงที่ใช้ไปในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณในแต่ละอาทิตย์นั้น เป็นการสรุปรวบยอดของอีก 167 ชั่วโมงที่เหลือ ในสัปดาห์นั้นๆ เราถวายชีวิตทั้งหมดในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ เพื่อให้พระเจ้าทรงเปลี่ยนแปลงเราอาศัยการสถิตอยู่ของพระคริสตเจ้า แล้วเราก็นำการเปลี่ยนแปลงไปกับชีวิตของเราในเวลาที่เหลือ
ข้อเขียนของ Fr. Alexander Schmemann ในบทความ For the Life of the World มีใจความตอนหนึ่งซึ่งสามารถสรุปความสำคัญของพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณสำหรับพระสงฆ์ได้ดีมากว่า เราอยู่โลกและรวมโลกเข้าไว้ให้อยู่ภายใต้พระพรของพระเจ้า โดยรับเอาโลกมาจากพระเจ้าแล้วถวายคืนแด่พระองค์ และอาศัยพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ ชีวิตของเราก็เกิดการเปลี่ยนแปลงให้มีชีวิตในพระเจ้า
ในความเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระองค์
หนังสืออ้างอิง
- การไหว้แบบไทย (n.d.). Retrieved October 1, 2009, from kanchanapisek.or.th/kp8/mthai/res.html
- คำสอนเล่มครบ. (1959). ต.ปากน้ำ จ.สมุทรปราการ: ช.แสงงามการพิมพ์
- หนังสือบทประจำมิสซา
- Emmons, D. D. (2008). Sacred Signing. Liguorian. (November), 12-14.
- Moore, G. (2007). We learn about mass. Strathfield, Australia: St Pauls Publications.
- Mueller, S. (2007). Frequently asked questions about the mass. Ottawa, Canada: Novalis.
- Folsom, C. (1998). Sacred signs and active participation at mass. Adoremus Bulletin, 4(3)
- Retrieved October 1, 2009, from http://www.adoremus.org/Folsom-Signs-598.html
- Guzman, M. M. and Castillo M. M. (Eds.). (1984). Question and answer: Catechism.
- 1st ed. Manila, The Philippines: Sinag-tala.
- Lovasik, L. G. (1986). The holy eucharist. New York, U.S.A.: Catholic Book Publishing.
|